Last updated: 24 พ.ค. 2566 | 710 จำนวนผู้เข้าชม |
ปัจจุบันเทคโนโลยีการผ่าตัดกระดูกสันหลังได้พัฒนาไปจากในอดีต ทั้งในเรื่องของขนาดของแผลผ่าตัด และมาตรฐานความปลอดภัย ตลอดจนการลดระยะการนอนพักฟื้นในโรงพยาบาลที่สั้นลง ด้วยเทคโนโลยีของการผ่าตัดผ่านกล้อง ซึ่งเป็นตัวช่วยที่ทำให้ศัลยแพทย์สามารถผ่าตัดได้ปลอดภัยขึ้น ขนาดแผลเล็กลง เลาะกล้ามเนื้อน้อยลง ทำให้ผู้ป่วยสามารถลุกเดินได้เร็วขึ้น
สาเหตุของการเกิดโรคหมอนรองกระดูกทับเส้นประสาท
โรคหมอนรองกระดูกทับเส้นประสาท เกิดจากหมอนรองกระดูกที่อยู่บริเวณกระดูกสันหลังถูกทำลายจนเสียหาย ซึ่งสาเหตุส่วนใหญ่ มาจากความเสื่อมของหมอนรองกระดูก จากการใช้งานที่ส่งผลต่อกระดูกสันหลังโดยตรงเป็นระยะเวลานาน เช่น การก้มหลังยกของหนัก การนั่งขับรถนาน การทำกิจกรรมที่ต้องก้มๆ เงยๆ เป็นประจำ หรือจากการได้รับบาดเจ็บ จึงทำให้มีอาการปวดเฉพาะที่ เช่น ปวดหลังไม่หาย ปวดบริเวณเอวด้านล่างลงมาถึงสะโพกหรือต้นขาด้านหลัง แต่หากกดทับเส้นประสาทผู้ป่วยจะมีอาการปวดขา อาการชา อ่อนแรง หรือเจ็บบริเวณแนวเส้นประสาทที่ถูกกดทับ ยิ่งกดทับมากขึ้นเท่าไร อาการปวดจะเพิ่มมากขึ้นจนปวดตลอดเวลา
สังเกตอาการหมอนรองกระดูกทับเส้นประสาท ได้ดังนี้
- ปวดหลัง ปวดบริเวณเอว เป็นๆ หายๆ
- ปวดร้าวลงไปถึงขา น่อง หรือเท้า
- เดินได้ไม่ไกล มีอาการปวดชาลงไปถึงขาเหมือนเป็นตะคริวร่วมด้วย ต้องหยุดพัก แล้วจึงจะเดินต่อไปได้
- ในผู้ป่วยที่มีอาการรุนแรง อาจมีอาการกล้ามเนื้ออ่อนแรงของขา กระดกข้อเท้าไม่ได้
- บางรายอาจมีปัญหาเกี่ยวกับการควบคุมการขับถ่าย
พฤติกรรมเสี่ยง ที่นำไปสู่หมอนรองกระดูกทับเส้นประสาท
- มีน้ำหนักตัวมากเกินไป
- อุบัติเหตุหกล้ม
- การยกของที่มีน้ำหนักมากเกินไป
- การอยู่ในท่าใดท่าหนึ่งเป็นเวลานานเกินไป นานมากกว่า 2 ชั่วโมงติดต่อกันโดยไม่เปลี่ยนอิริยาบถ รวมถึงการขับรถระยะทางไกลโดยไม่พัก
- ขาดการออกกำลังกาย หรือการออกกำลังกายที่ส่งผลต่อหมอนรองกระดูกสันหลังมากเกินไป
การผ่าตัดหมอนรองกระดูกทับเส้นประสาทด้วยกล้อง Endoscope
เทคโนโลยีการรักษาหมอนรองกระดูกทับเส้นประสาทยังพัฒนาอย่างต่อเนื่อง กระทั่งมีการผ่าตัดด้วยกล้อง Endoscope ซึ่งเป็นการพัฒนาการอีกขั้นเพื่อใช้ในการผ่าตัดกระดูกสันหลัง วิธีนี้จะเป็นการผ่าตัดที่สอดกล้องเล็กๆ เข้าไปในตัวของผู้ป่วยและแสดงผลจอมอนิเตอร์ที่ฉายภาพ ให้ศัลยแพทย์สามารถมองเห็นอวัยวะต่างๆ ของผู้ป่วยได้ชัดเจน สามารถลดขนาดแผลจากเดิมลงเหลือ 8 มิลลิเมตร. – 1 เซนติเมตร เมื่อแพทย์สามารถมองเห็นความผิดปกติได้อย่างชัดเจน แม่นยำ เลือกตัดออกเฉพาะส่วนที่ทำให้เกิดปัญหาได้โดยไม่ต้องตัดเลาะกล้ามเนื้อส่วนที่ดีออก
23 พ.ค. 2566